วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ขนมมาการอง

มาการอง (Macaron) 



         เป็นขนมหวานที่มีต้นกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศส มีส่วนประกอบหลักของ Almond น้ำตาล และไข่ขาว มีลักษณะคล้ายคุ้กกี้ชิ้นเล็กสองอันประกบกันมีไส้ตรงกลาง มีสีสันสดใส กรอบนอกนุ่มใน สอดไส้ตรงกลางด้วยกานาช (Ganache) มีหลายรสชาติ เช่น ช็อกโกแลต สตรอเบอร์ รี่ วานิลลา อัลมอนด์ หรือผลไม้ตามฤดูกาล เป็นต้น และมักนิยมทานคู่กับชา หรือ กาแฟ


มาการอง เป็นที่รู้จักครั้งแรกในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมัยนั้นข้าวยากหมากแพง เนื้อสัตว์ โปรตีนไม่มีให้รับประทานมากมายนัก เหล่าแม่ชีชาวอิตาเลียนที่อพยพมายังประเทศฝรั่งเศสจึงดำรงชีพอยู่ด้วยอัลมอนด์ เพราะมีคุณค่าทางอาหารไม่แพ้เนื้อสัตว์ โดยนำมาประกอบเป็นอาหารหรือขนมหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือ ขนมจากอัลมอนด์ ซึ่งต่อมากลายเป็นของหวานที่ชาวฝรั่งเศสชื่นชอบมาจนถึงปัจจุบัน



สเน่ห์ของมาการองไม่ได้อยู่ที่สีสันสดใสเท่านั้น ว่ากันว่ามาการองที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่รูปร่างคล้ายกับโดมแบน ๆ มองดูจากด้านบนเป็นวงกลม ผิวด้านบนของขนมเรียบมันจากความละเอียดของอัลมอนด์บด ส่วนที่สำคัญคือ “Foot” บางตำราเรียก ”Skirt” รอยหยักคล้ายลูกไม้ชายกระโปรงที่บางกรอบ ซึ่งมีวิธีการทำที่ยุ่งยากพอควร อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ กลิ่นหอมหวาน เคล็ดลับอยู่ที่หลังจากนำมาการอง 2 ชิ้นมาประกบกันแล้ว ต้องเก็บไว้ในที่เย็น 1 คืน เพื่อให้ไส้รสชาติต่าง ๆ ซึมซาบเข้าสู่ชั้นของคุกกี้ นอกจากนี้ความชื้นจากไส้ยังทำให้มากาฮองมีความนุ่มหนึบเวลาเคี้ยวอีกด้วย



คุณลักษณะของมาการองที่ดี จะต้องมีรสชาติที่ผสานกันอย่างลงตัวระหว่างไส้กานาชและเนื้อคุกกี้ ส่วนสูงที่สมดุลของตัวคุกกี้ชิ้นบนและล่างที่มีขนาดเท่า ๆ กัน รวมทั้งไส้ที่บีบพอดีขอบให้เห็นเป็นเส้นเล็ก ๆ ตลอดทั้งชิ้น

ส่วน มาการูน (Macaroon) คือขนมที่ชาวอเมริกันดัดแปลงจากมากาฮองของประเทศฝรั่งเศสโดยใช้มะพร้าวป่น แทนอัลมอนด์บด ทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกขนมชนิดนี้ว่า “Coconut Macaroon” นิยมจุ่มลงในซอสช็อกโกแลตก่อนรับประทาน แต่ในศตวรรษที่ 20 ของหวานสไตล์ฝรั่งเศส เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในประเทศสหรัฐอเมริกา มาการูน จึงได้รับความนิยมน้อยลง บวกกับมะพร้าวหาได้ยากและมีราคาแพง ร้านขนมต่าง ๆ จึงหันมาใช้อัลมอนด์บดเหมือนมากาฮอง อันเป็นที่มาของความสับสนระหว่าง 2 คำนี้




*ใน ประเทศอังกฤษ ยังเรียก “Macaron” ว่า “Macaroon” เนื่องจากเป็นที่รู้จักและมีความเป็นสากลมากกว่า

ที่มา: นิตยสาร Food Paper ฉบับที่ 70 เดือนมีนาคม 2553 หน้า 18 - 19

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น